ดนตรีดีดี๊กับหนูอนุบาล
คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังคิดอยากให้ลูกเรียนดนตรีอยู่รึเปล่าคะ ถ้าใช่ก็เชิญทางนี้ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็อย่าเพิ่งมองข้ามเรื่องนี้ไป เพราะเมื่อคุณอ่านจบคุณอาจจะเปลี่ยนใจ !!
ได้มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปที่เว็บไซต์ของรักลูกค่ะ ไปสะดุดเอากับคำถามของคุณแม่ท่านหนึ่งที่โพสต์ไว้ว่า “อยากให้ลูกเรียนดนตรี ควรเริ่มเรียนตอนไหนดีคะ ?” ตรงใจพอดีเลยค่ะ เพราะกำลังจะนำข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีในเด็กวัยอนุบาลมาฝากกันอยู่แล้ว ก็ถือโอกาสหาคำตอบมาให้ด้วยเลย ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังสนใจอยากหากิจกรรมเสริมให้ลูกค่ะ
ดนตรี ดี กับพัฒนาการ
ดนตรีเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสนใจอย่างมาก บางคนอยากให้ลูกเป็นนักดนตรี อยากให้ลูกชอบดนตรี หรือให้เล่นดนตรีเพื่อเป็นกิจกรรมเสริมที่ช่วยให้ผ่อนคลายก็ว่ากันไปค่ะ แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามดนตรีมีประโยชน์ในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าลูกจะร้อง เล่น เต้นระบำ ก็เป็นผลดีกับพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยทั้งนั้น
จินตนาการกว้างไกล
เด็กที่ได้สัมผัสดนตรีจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน อ่อนโยน มีจินตนาการกว้างไกล เพราะเสียงดนตรีช่วยให้เกิดจินตนาการได้โดยไม่จำกัด ยิ่งเป็นดนตรีบรรเลงด้วยแล้ว จะช่วยให้เกิดจินตนาการได้ดีกว่าดนตรีที่มีคำร้องค่ะ อีกอย่างหนึ่งดนตรีมีผลต่อการพัฒนาอารมณ์ของเด็กด้วยนะคะ เด็กที่เล่นดนตรีจะใจเย็น ดนตรีจะช่วยให้เขามีสมาธิ มีความอดทน และช่วยฝึกความจำไปด้วยในตัว
คิดเก่งแบบมิติสัมพันธ์
การคิดเชิงมิติสัมพันธ์เป็นยังไงน่ะเหรอ ก็คือการมองเห็นภาพความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนด้วยความคิด ความรู้สึกหรือใจของเรา แล้วก็ถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นได้รู้เป็นภาพ เป็นแผนผัง หรือเป็นคำอธิบาย พูดง่ายๆ ก็คือการคิดเป็นภาพแทนตัวอักษรน่ะค่ะ เวลาเล่นหมากรุกเราต้องคิดวางแผนในใจว่าเราจะเอาชนะเกมนี้ได้อย่างไร ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เราเห็นภาพเกมการเดินหมากรุกในใจได้แจ่มแจ๋ว แล้วเมื่อเรานำแผนนั้นมาเล่นจริงๆ ก็ชนะจริงๆ ซะด้วย นั่นล่ะค่ะความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ หรือการที่เราขับรถแล้วไม่หลงทาง แล้วยังจำได้ว่าถ้าเข้าซอยนั้นจะลัดออกซอยนี้ทะลุไปเส้นนั้นเส้นนี้ได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสามารถของมิติสัมพันธ์เช่นกันค่ะ
ได้ยินชัดแจ๋ว
ดนตรีจะช่วยเรื่องการได้ยิน เพราะเวลาที่เด็กได้ยินเสียงดนตรีซึ่งมีลักษณะเสียงสูงๆ ต่ำๆ ก็จะรับความถี่ของคลื่นเสียงที่แตกต่างกันไปด้วย สมองซึ่งรับรู้เกี่ยวกับการได้ยินจึงถูกพัฒนาตามการฟังดนตรี เป็นการเตรียมการได้ยินในเด็กค่ะ และพ่อแม่คือบุคคลที่จะทำให้วงจรการพัฒนานี้สมบูรณ์ขึ้นได้ โดยให้ลูกได้ฟังเสียงแต่ต้องเป็นเสียงที่มีคุณภาพหน่อยนะคะ ยิ่งเด็กวัย 3-6 ขวบ เริ่มที่จะพูดได้เป็นประโยคแล้วด้วย ถ้าศักยภาพการได้ยินและฟังสูง เขาก็จะเก็บคำศัพท์จากเสียงที่จะเปล่งออกมา ทำให้เด็กได้เลียนเสียงพูดและพัฒนาการด้านการพูดจะดีขึ้นด้วย
เรียนดนตรี...เมื่อไหร่ดีล่ะ
ใครที่ชักจะเริ่มสนใจให้ลูกเรียนดนตรีก็สามารถให้ลูกเริ่มเล่นดนตรีได้เมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไปนะคะ แต่ขั้นแรกคุณต้องคอยสังเกตก่อนว่าลูกชอบเล่นดนตรีแบบไหน แต่ถ้ายังไม่ชัดว่าตัวน้อยของเราชอบอะไรแน่ ก็ลองเริ่มจากเครื่องดนตรีที่เป็นประเภทเครื่องเคาะ เพราะง่ายและไม่ซับซ้อน แต่จะให้ดีควรให้ลูกได้เลือกด้วยตัวเองดีกว่า และต้องไม่ลืมถามความสมัครใจด้วยนะคะว่า เขาอยากจะเรียนดนตรีหรือเปล่า ไม่ใช่เขาไม่อยากเรียน แต่คุณแม่อยากให้เรียนก็จับเขาไปเรียน แบบนี้ขอบอกเลยว่าอะไรที่ทำแล้วไม่มีความสุข ลูกเราเขาทำได้ไม่นานหรอกค่ะ
และเมื่อลูกยินยอมพร้อมใจจะเรียนแล้วสิ่งที่สำคัญก็คือ เวลาที่เรียนไปแล้วต้องไม่ให้ลูกเกิดความเบื่อหน่าย ต้องให้เขารู้สึกรัก โดยเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่จะสอนเองที่บ้านก็ได้ หรือว่าถ้าไม่มั่นใจก็ส่งลูกเข้าโรงเรียนก็ได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้ลูกเกิดความรู้สึกสนุก มีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องนี้ ถ้าเด็กเกิดความซาบซึ้งใจ ประทับใจแล้วก็จะเดินต่อไปได้ดีเองล่ะค่ะ
ฟัง ร้อง เต้น ก็ช่วยพัฒนา
แต่ถ้าคุณดูๆ แล้ว ยังงั้ย...ยังไงเจ้าตัวเล็กของเราก็ยังไม่พร้อมจะเล่นดนตรี เราก็มีทางเลือกอย่างอื่นเกี่ยวกับดนตรีที่สามารถช่วยพัฒนาลูกของเราได้เช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วทักษะดนตรีมีด้วยกัน 6 อย่างแน่ะค่ะ คือ ฟัง ร้อง เคลื่อนไหวประกอบจังหวะ เล่นดนตรี การอ่านโน้ต การสื่อสารโน้ต และการเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งทั้ง 6 อย่าง ก็เป็นทักษะที่ซับซ้อนและต้องการความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การฟัง การร้อง การเต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถพัฒนาลูกเราได้แล้วค่ะ แต่ว่าการได้เล่นดนตรีจะมีข้อดีเพิ่มขึ้น เพราะเวลาคนเล่นดนตรีจะเกิดการทำงานของสมองหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นความจำ การอ่าน การมองเห็นตัวโน้ต การเคลื่อนไหว และถ้าจะเล่นดนตรีได้ดีขึ้นไปอีกก็ต้องมีเรื่องของอารมณ์ การจินตนาการไปตามเพลง ซึ่งส่วนนี้จะช่วยในเรื่องการฝึกวิธีคิดได้อีกด้วย
เลือกโรงเรียนดนตรีอย่างไรดี
หลายคนอาจมีคำถามค่ะว่า “แล้วจะเลือกโรงเรียนสอนดนตรีอย่างไรดี” มีคำแนะนำให้ค่ะว่า ถ้าจะเลือกที่สอนดนตรีให้ลูก อย่าพิจารณาที่โรงเรียน แต่ให้เลือกที่ครูผู้สอน โดยครูต้องเข้าใจเด็ก รู้จิตวิทยาสำหรับเด็ก สิ่งที่เขาสอนต้องพูดถึงการทำให้ดนตรีเข้าไปอยู่ในตัวเด็ก แต่ไม่เน้นเรื่องของการฝึกเด็กให้เป็นนักดนตรีที่เก่ง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะวิธีการฝึกฝนนักดนตรี กับการที่ใช้ดนตรีพัฒนาเด็กจะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นลองพิจารณาดูที่ครูผู้สอนว่ามีมุมมองยังไง คิดอย่างไรเกี่ยวกับการสอนดนตรีให้เด็ก ถ้าเขามองว่าเด็กทุกคนต้องเก่งโดยไม่คำนึงถึงสภาพของเด็ก ก็คงไม่เหมาะสำหรับการสอนเด็กที่ยังเล็กค่ะ เพราะหลายแห่งแทนที่เด็กจะพัฒนาตัวเองได้จากการที่เรียนดนตรี เด็กกลับเครียด ไม่ซาบซึ้งกับดนตรีเลย เพราะว่าครูตั้งใจมากเกินไป
ส่วนเด็กๆ ที่ไปเริ่มเล่นดนตรีหลัง 6 ขวบไปแล้ว ช่วงวัยนี้ก็สามารถค่ะ แต่ต้องออกแรงมากหน่อย เพราะวัย 3-6 ปี สมองกำลังเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มาก ถ้าเริ่มฝึกฝนในช่วงนี้เลยทักษะดนตรีก็จะไปได้ไกลกว่า แต่ถ้ามาเรียนรู้ทีหลังเขาคงต้องฝึกหนักขึ้น เพื่อให้เขาสามารถบรรลุจุดสูงสุดได้ เพราะศักยภาพของสมองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะลดลง
มีหลายบ้านทีเดียวค่ะที่เด็กๆ มีโอกาสได้เริ่มเรียนดนตรีก็โตแล้ว เพราะครอบครัวไม่สามารถส่งเสริมได้ในช่วงเล็กๆ แต่อย่างน้อยที่สุดการเปิดเพลง การร้องเพลง การเคลื่อนไหวตามจังหวะ ก็ช่วยในการพัฒนาได้ หรืออยางน้อยให้เขามีเสียงดนตรีในใจ วงจรพวกนี้ก็จะสามารถต่อยอดไปได้เองค่ะ
อย่าคาดหวังกับลูกมากเกินไป
เมื่อลูกไปเรียนดนตรีได้สักระยะ พ่อแม่หลายคนชอบตั้งความหวังกับลูกค่ะ เห็นเด็กๆ คนอื่นไปได้ไกล ก็เกิดการเปรียบเทียบ ฝากไว้ตรงนี้เลยนะคะว่า เด็กทุกคนไม่ใช่ว่าจะสัมผัสดนตรี หรือมีความชอบความสามารถด้านดนตรีได้เหมือนกันหมด ฉะนั้นอย่ามุ่งหวังให้ลูกเก่งหรือเป็นนักดนตรีอย่างเดียว ให้คิดว่าการเรียนดนตรีในเด็กมีจุดสำคัญที่สุดคือช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้เด็ก เพื่อให้สมองได้รับการพัฒนา แล้วค่อยมาดูว่าลูกเราชอบหรือไม่ชอบไปได้ดีแค่ไหน ถ้าเห็นแววค่อยส่งเสริมต่อ แต่ถ้าไม่เห็นแววก็ขอแค่ลูกชอบดนตรี ได้สัมผัสกับดนตรีบ้าง มีโอกาสฝึกฝนทักษะทางดนตรีต่างๆ บ้าง ไม่ว่าจะเป็นร้อง ฟัง เล่น หรือการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะก็มีประโยชน์มหาศาลแล้วค่ะ การคาดหวังมากๆ จะทำให้ลูกเครียดมากกว่า และก็อาจจะเกลียดดนตรีไปเลยก็ได้ค่ะ
คิดเหมือนกันมั้ยคะว่า กิจกรรมเรียนดนตรีก็น่าสนใจและมีประโยชน์อยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ย รู้แบบนี้แล้วจะช้าอยู่ไย เปิดโลกดนตรีให้กับลูกกันเถอะจ้า
http://magickidschool.com/articledetail.php?id=456&type=19
แสดงความคิดเห็น