ถอดรหัสซีรีย์ดังฮอร์โมน จงท่องคาถา "ตื่นตัวไม่ตื่นตูม"
ที่ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กเยาวชน จัดเวทีเสวนา“ตื่นตัว ไม่ตื่นตูม...บทเรียนในฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” เพื่อวิเคราะห์ปัญหามุมมอง ของวัยรุ่นและครอบครัว โดยมีเครือข่ายด้านครอบครัว นักเรียน นักศึกษา กว่า 200 คนเข้าร่วม
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสมัยนี้ครอบครัวเดี่ยวมีมากขึ้น ปัญหาของวัยรุ่นจึงไม่ใช่เรื่องที่พ่อแม่แยกทางกันเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาหลักที่สำคัญคือ เรื่องสายสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หากเด็กไม่มีสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ไม่มีความรักมากพอ ก็จะเกิดปัญหาแม้ว่าจะมีทั้งพ่อและแม่ ซึ่งสายสัมพันธ์จะเป็นตัวหล่อหลอมเด็กสร้างภูมิต้านทานให้กับเขา อย่างกรณีซีรีส์ฮอร์โมน สะท้อนความจริงที่แรง แต่มีบางมุมที่ไม่สะท้อน ดังนั้น ครอบครัวควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเตรียมรับแล้วเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน บางครอบครัวสามารถข้ามผ่านเรื่องเหล่านี้มาได้ เพราะเด็กสามารถควบคุมได้ด้วยพลังในทางบวก แม้พลังในด้านมืดจะออกมา แต่หากได้รับการอบรมที่ถูกต้อง มีพ่อแม่พยายามเป็นแบบอย่าง ส่งสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ก็จะผ่านไปได้ แต่ถ้าไม่นั้นหมายถึงเขาจะผลักพ่อแม่แล้วเข้าหากลุ่มเพื่อนซึ่งพูดภาษาเดียวกัน
“จากซีรีส์เรื่องดังกล่าว ในประเด็นที่เด็กค้นหาวิธีการใช้ยาคุมจากอินเทอร์เน็ต การใช้ยาคุมฉุกเฉิน ซึ่งถ้าหากพ่อแม่นั่งดูอยู่ด้วย ก็ควรใช้จังหวะนี้อธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงข้อเท็จจริงของการใช้ ซึ่งพ่อแม่ต้องพูดคุยกับลูกอย่างเปิดเผยในเรื่องเพศศึกษา เพราะการพูดคุยจะมีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน” นางฐาณิชชา กล่าว
นางศรีดา ตันทะอธิพานิชย์ ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจว่านี่เป็นหนังที่ต้องมีการเพิ่มสีสัน นี้คือภาพความจริงสะท้อนสังคมบ้านเรา มีดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่หนังเรื่องนี้กล้าพูดในเรื่องที่พ่อแม่อาจตกใจ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะหยิบจุดไหน และการเติมสีสันเพื่อสื่อให้ได้อรรถรสด้านอารมณ์ในการรับชม เท่าที่เห็นก็เป็นเรื่องจริง แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเลือกมอง อันไหนดีไม่ดี พ่อแม่ต้องเชื่อมโยงกับลูกในแต่ละประเด็น ไม่ใช่จับผิด นั้นหมายถึงดูแล้ว ต้องสอดส่องดูแลลูกเชื่อมโยงกับชีวิตจริง จะสะท้อนปัญหากับลูกเรื่องแบบไหน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราต้องไว้ใจเพื่อให้เขามีประสบการณ์ด้วยตนเอง ก่อนปล่อยเขาเราต้องฉีดภูมิคุ้มกันให้เขาก่อน และเมื่อเราไว้ใจก็จะได้เข้าใจเขา
“ซีรีส์เรื่องนี้แนะนำว่าให้พ่อแม่ได้ดู แล้วเลือกมุมที่เป็นประโยชน์ เช่น เรื่อง เซ็กส์ แอบสูบบุหรี่ เราควรเชื่อมโยงกับเขา พูดคุย ให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นสะพานเชื่อมบอกสิ่งที่เป็นประสบการณ์กับพ่อแม่ แง่คิดเพื่อให้เขามีภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ห้าม แต่ต้องเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของพ่อแม่ คุยกันอย่างเป็นมิตร อย่าจับผิด เพราะการพูดคุยจะได้คำตอบ แนวคิดที่เป็นประโยชน์ส่งเสริมให้เท่าทันลูก หากใช้อำนาจ เด็กจะไม่เปิดแน่นอน” นางศรีดา กล่าว
นางศรีดา กล่าวอีกว่า ประเด็นรู้เท่าทันสื่อ ที่ไม่ควรมองข้ามในซีรีส์เรื่องนี้คือ การโฆษณาแฝงที่พ่อแม่ ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจและเท่าทันพฤติกรรมเลียนแบบว่าไม่ควรทำตามพรีเซนเตอร์ ซึ่งก็คือตัวละครที่ใช้ของต่าง ๆ หรือ มีโฆษณาแฝงเข้ามาอยู่ในฉาก โดยพ่อแม่ต้องคุยกับลูก ชี้ให้เห็นว่าสินค้ามากมายเหล่านั้นคือสปอนเซอร์ บริษัทหนังต้องการสปอนเซอร์ เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันและไม่เลียนแบบตัวละคร
ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ผู้ปกครองต้องยอมรับความจริงว่า บริบทวัยรุ่นในยุคนี้ต่างจากยุคของพวกเรา 360 องศา การปิดกั้น ไม่ให้เข้าถึงข้อมูล ความกลัว ตระหนก อาการแสดงออกของผู้ใหญ่ภายใต้อาการแบบนั้น ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะจะทำให้เขารู้สึกอยู่คนละข้าง สิ่งที่เราต้องทำคือ ให้เขาหันกลับมาหาเราพูดคุยปรึกษา ต่อยอดช่วยเหลือ คลี่คลายปัญหามากกว่าปิดประตูใส่เขา
“การแสดงออกบนพื้นฐานความหวาดกลัวไม่ไว้ใจ ยิ่งทำให้สัมพันธ์ห่างไกลไม่ใช่เด็ก ไม่เห็นเงาความคิด แต่จะกระโดดไปไกล พ่อแม่ต้องพยายามเป็นมิตร เพื่อนทางความคิด เพราะเรามีประสบการณ์ ความเป็นผู้ใหญ่ รอบคอบ หากเราหวาดระแวงเขา ก็จะเลือกคนอื่น อย่างไรก็ตาม ครอบครัวควรมีพื้นที่ให้เขาแลกเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องสำเร็จรูปแบบฝรั่ง ที่ให้กล้าคิดกล้าคำ เพราะไม่ได้หมายความว่าถ้าเป็นอย่างนั้นครอบครัวจะดีหมด แต่สิ่งสำคัญต้องอยู่บนบริบทสองส่วน คือ ประสบการณ์น้อย กับผ่านโลกมามาก เอาสองส่วนจุดแข็งจุดอ่อนมาเกื้อหนุนกัน” นางทิชา กล่าว.
โดย: ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์