Accessibility help

เมนูหลัก

ชัวร์แค่ไหน? เมื่อปล่อยให้ลูกเข้าร้านเกม

ชัวร์แค่ไหน? เมื่อปล่อยให้ลูกเข้าร้านเกม

 
 
พ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนมากที่วางใจให้ลูกเดินเข้าร้านเกม   โดยไม่เคยรู้ว่า มีร้านเกมน้ำเสียจำนวนมากเป็นสถานที่บ่มเพาะเด็กๆ  เข้าสู่สังเวียนการเป็น “ นักพนันรุ่นใหญ่ ”  ด้วยการเรียนรู้การเล่นพนันออนไลน์และอบายมุขในรูปแบบใหม่ๆ
 

         เป็นที่ทราบกันดีว่า  ร้านอินเทอร์เนตส่วนใหญ่ให้บริการสื่อความบันเทิงรูปแบบอื่นๆด้วย  จากการสำรวจพบว่า  ร้านอินเทอร์เนตที่เปิดให้บริการเกมส์ออนไลน์มีมากถึงร้อยละ 70.4  เกมคอมพิวเตอร์หรือเกมออฟไลน์ ร้อยละ 48.1 และให้บริการอื่นๆ  เช่น เกมเพลย์สเตชั่น  ร้อยละ 16.1 ดังนั้น  จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเด็กที่เข้าไปใช้บริการส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงมากกว่าการหาข้อมูลความรู้
         ที่น่าเป็นห่วงคือ  กลุ่มเป้าหมายของร้านประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษาถึง ร้อยละ  84.1  รองลงมาคือ  ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ/พนักงานลูกจ้างเอกชน
 
          จะเกิดอะไรขึ้น…ถ้าอนาคตของสังคมกำลังวนเวียนอยู่กับเกม  การพนัน และอบายมุขแบบออนไลน์
 

ร้านเกม “ หลุมหลบภัย ”  ของวัยรุ่น

         ในยุคที่ร้านเกมผุดขึ้นมากมายและหาง่ายกว่าร้านขายของชำ  โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ  ร้านค้าประเภทนี้จึงกลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนมาก  โดยมีร้านเกมจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะพฤติกรรมที่เลวร้ายทั้งยาเสพติดและการพนัน
         ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ  ในปี 2553  ชี้ว่า  ร้านเกมที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) มีจำนวนทั้งสิ้น  42,853 ร้าน เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ  มีมากถึง 7,375 แห่ง  และต่างจังหวัด  35,478 แห่ง โดยปัญหาที่พบในร้านเกมมีทั้งปัญหาการทะเลาะวิวาท  การพนัน  การมั่วสุมเสพยาเสพติด  จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน  และการมั่วสุมทางเพศ
        นอกจากนี้   ร้านค้าประเภทนี้ยังเป็นพื้นที่หลบภัยของเด็กหนีเรียน  และได้ให้บริการแก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี  และ 18 ปี   เข้าใช้บริการเกินช่วงเวลาที่กำหนดไว้
 
 
สร้าง “ ร้านเกมสีขาว”  ลดพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชน

       การดูแลสอดส่องการให้บริการร้านเกมเป็นหนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด  โดยกระทรวงวัฒนธรรมกำหนดให้ร้านค้าประเภทนี้ต้องจดทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบกิจการร้านเกม  และมีข้อปฏิบัติตามกฎกระทรวงประกอบพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์พ.ศ.2551  คือ  ต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในร้าน  มีการจัดส่วนพื้นที่อย่างเหมาะสม  ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  การควบคุมไม่อนุญาตให้เยาวชนเล่นในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น  โดยขอความร่วมมือจากร้านเกมทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม เพื่อร่วมกันสร้าง “ร้านเกมสีขาว”    ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย
       เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้ประกอบการร้านเกมกว่า  ร้อยละ  98  ทั่วประเทศต่างขานรับนโยบายดังกล่าว  โดยเริ่มต้นจากแนวคิดการเปลี่ยนผู้ประกอบการร้านเกมไปสู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม  ( Social  Enterprise )  ที่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น  เพื่อให้เยาวชนได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย
      ประเด็นที่ผู้ประกอบการเสนอแนะเพิ่มเติมคือ    ต้องการให้หน่วยงานรัฐเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎหมายและอบรมสื่อด้านบวกให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อช่วยกันดูแลและควบคุมพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของเยาวชนให้เหมาะสม และเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์
      ประเด็นเยาวชนไทยกับเกมและการพนันออนไลน์  รวมถึงการสำรวจร้านอินเทอร์เนตในประเด็นที่นำเสนอในข้างต้น  เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยโครงการ การศึกษามาตรการและแนวทางดำเนินการสนับสนุน  เพื่อพัฒนาร้านเกมสีขาวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในสังคมสมัยใหม่  ภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

 
      เป้าหมาย คือ การเตรียมพัฒนาความร่วมมือระหว่างเจ้าของร้านเกมตัวอย่างและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่ภาครัฐ  ในการเปิดพื้นที่ให้เกิดร้านเกมสีขาวมากขึ้นทดแทนร้านเกมผีอันเป็นแหล่งบ่มเพาะพฤติกรรมเลวร้ายให้แก่เยาวชนไทย
 
 
เนื้อหาจาก นิตยสารต้นคิด ฉบับที่ 39  กันยายน พ.ศ.2554