“เพศ”ต้องรู้ตั้งแต่อยู่อนุบาล/ฐาณิชชา ลิ้มพานิช
โดย ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าเรื่อง "เพศ" เป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่ควรพูดถึงส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากไม่กล้าถาม ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ จึงเชื่อเพื่อน เชื่อแฟน มีความสัมพันธ์ทางเพศโดยไม่ป้องกัน ทำให้เกิดโรคติดต่อ เด็กผู้หญิงตั้งครรภ์ขณะเรียนหนังสือหรือบางคนทำแท้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ปัญหาเหล่านี้มีทั้งทางป้องกันและการแก้ไข ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะสอนเรื่องเพศให้เด็กรู้ตั้งแต่เมื่อไหร่และปัญหาของเด็กแต่ละวัยมีอะไรบ้าง
เริ่มจากการตอบคำถาม
“หนูเกิดมาจากไหน”นี่เป็นคำถามที่ผู้ใหญ่หลายคนตอบไม่ถูก ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปดูทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อเรื่องนี้ เพราะถ้าพ่อแม่คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่น่าพูดถึง พ่อแม่ไม่พูด ลูกก็ไม่กล้าถาม แต่ถ้าพ่อแม่พูดคุยได้ทุกเรื่องลูกก็จะกล้าถาม กล้าปรึกษา และกล้าที่จะเปิดเผย ไม่ปิดปัง
ตัวอย่างคำถามที่พบบ่อยๆ
ถาม “หนูเกิดมาจากไหน”
ตอบ “หนูเกิดจากพ่อนะลูก ลูกอยู่กับพ่อ แล้วมาอยู่กับแม่ มาอยู่ในท้องแม่”
ถาม “แล้วหนูเข้าไปอยู่ในท้องแม่ได้อย่างไร”
ตอบ “ทางช่องคลอด แล้วหนูอยู่ตรงนี้จนโต”ชี้ที่ท้อง
ถาม “หนูออกมาจากท้องแม่ได้อย่างไร”
ตอบ “ผู้หญิงมีช่องคลอด ลูกออกมาจากทางนั้น”
นี่เป็นตัวอย่างการพูดคุยง่ายๆกับเด็กวัยอนุบาล ซึ่งต้องการคำอธิบายที่ชัด กระชับ เข้าใจง่าย เมื่อเด็กถามแล้ว อาจนำคำถามเดิมมาถามซ้ำอีก พ่อแม่ก็อย่าเพิ่งรำคาญ เพราะวัยนี่จะถามบ่อยๆซ้ำๆ เป็นเรื่องปกติ พ่อแม่คอยตอบคำถามที่เช้าใจง่ายก็พอแล้ว เพราะสิ่งที่เด็กต้องการจริงๆ คือความรัก ความมั่นคง ความปลอดภัยจากครอบครัว
สอนลูกให้รู้จักรักและดูแลตัวเอง
การสอนลูกให้รู้จักพื้นที่ของตนเอง (Boundary)เป็นอีกเรื่องที่สอนเชื่อมโยงได้เป็นอย่างดี โดยสอนให้เด็กรู้จักอวัยวะของตัวเอง เช่น หัว ไหล่ น จิ๋ม ก้น แขน ขา เป็นต้น และให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ส่วนไหนของร่างกายเป็นพื้นที่ส่วนตัว ที่เด็กๆมีสิทธิที่จะปกป้อง ไม่ให้คนอื่นมาจับต้อง หรือทำร้าย และอวัยวะส่วนไหนที่เด็กๆไม่ชอบให้จับต้อง เด็กๆก็มีสิทธิในร่างกายนั้น
ปลูกฝังเรื่องวินัยและการใช้ชีวิต
การสอนเรื่องวินัยและการเรียนรู้กติกาที่จะอยู่ร่วมกันในครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การหัดให้เด็กได้จัดการกิจวัตรประจำวันของตัวเองตามวัย เช่น การพับผ้าห่ม เก็บที่นอน ตื่นเป็นเวลา เข้านอนเป็นเวลา ไม่ดูทีวีในห้องนอน กินให้เป็นเวลา ไม่เล่นไปกินไป หัดช่วยเหลืองานเล็กๆน้อยๆ ในบ้าน เช่น พับผ้าชิ้นเล็กของตัวเอง กรอกน้ำ กวาดบ้าน โดยผู้ใหญ่ควรชื่นชมหรือชมเชยทันทีเมื่อเด็กๆ ทำดี เพราะเด็กๆ ต้องการสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็ลงโทษอย่างสมเหตุสมผลและไม่ใช้ความรุนแรง การฝึกวินัยตั้งแต่เด็ก และการที่พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่เหมาะสมจะเป็นผลดีเมื่อเด็กโตขึ้น เด็กจะรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง รู้จักคิดก่อนทำ ใกล้ชิดพ่อแม่ และกล้าปรึกษาในหลายๆเรื่อง
นอกจากนี้ การสอนทักษะชีวิตง่ายๆให้เด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ การฝึกที่จะแก้ปัญหา หรือการที่เด็กถูกขัดใจบ้าง จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะจัดการความรู้สึกเวลาไม่ได้ดั่งใจ ทำให้เป็นคนไม่เอาแต่ใจตนเอง ปฏิเสธเป็น คิดเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันให้เด็กเป็นอย่างดี
ร่างกายมีผลต่อจิตใจ
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยประถม การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจะเห็นได้ชัด และเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวที่จะพูดถึงสถานการณ์ต่างๆ เช่น
- เด็กผู้หญิง เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น เริ่มมีกลิ่นตัว มีหน้าอกขึ้น มีประจำเดือน เป็นต้น
- เด็กผู้ชาย เริ่มมีกลิ่นตัว เสียงแตก ฝันเปียก เป็นต้น
พ่อแม่ต้องพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้เด็กสบายใจ ไม่กังวล ได้รู้และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น รู้วิธีที่จะดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม รู้จักรักษาความสะอาด และเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมีผลกับอารมณ์และจิตใจ ที่สำคัญ เป็นเรื่องปกติตามวัยที่ทุกคนต้องเจอ
การจัดการอารมณ์ทางเพศ
เมื่อมีความต้องการทางเพศหรือมีอารมณ์ทางเพศ วิธีการจัดการมีหลายวิธีอย่างที่เรารู้กันคือ การใช้ทักษะชีวิตที่เราสอนเด็กตั้งแต่เล็ก ในเรื่องการจัดการปัญหา การจัดการความรู้สึก การเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เป็นต้น
มีคำถามว่า “ช่วยตนเองผิดหรือไม่” การช่วยเหลือตนเองทางเพศ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เป็นการปลดปล่อยอย่างหนึ่งและไม่ผิด แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ความถี่หรือวิธีที่ใช้ ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ การปลดปล่อยนั้นต้องไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายหรือคุกคามคนอื่น
เพาะฉะนั้น การมีทัศนคติ และความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้องสำหรับพ่อแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะส่งผลถึงการเข้าใจในการสอนและการพูดคุยกับลูกเรื่องเพศ เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ สามารถเรียนรู้ได้ แลกเปลี่ยนได้ ถามได้ ตอบได้ ไม่ใช่เรื่องผิด
ที่สำคัญ คนที่จะให้คำตอบและพูดคุยกับลูกเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็คือ พ่อแม่
ที่มา คอลัมน์ห้องเรียนพ่อแม่ นิตยสารโฮม ปีที่ 3 ฉบับที่ 15 กันยายน-ตุลาคม 2554