สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สสส. และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันจัดงาน “หยุดพนัน...หยุดภัยร้ายสังคมไทย”

 สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สสส. และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันจัดงาน “หยุดพนัน...หยุดภัยร้ายสังคมไทย” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยสถานการณ์ครอบครัวกับการพนัน และร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนา “พนันติดง่ายเลิกยาก” พร้อมสรุปข้อเสนอแนะต่อสาธารณะ

 

          วานนี้ (5 ก.ค.55) ที่ ห้องประชุม ชั้น 4 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ กรรมการสมาคมครอบครัวศึกษาและสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว นำเสนอผลงานวิจัยสถานการณ์ครอบครัวกับการพนัน จากกลุ่มตัวอย่าง 4,000 คน พบผลวิจัยที่น่าสนใจว่า คนไทยร้อยละ 77 เคยเล่นการพนัน การพนันครั้งแรกของคนไทยคือหวยใต้ดิน และในทุกๆ วันมีเงินพนันหวยใต้ดินหมุนเวียนถึง 9.47 ล้านบาท นอกจากนี้การพนันที่คนไทยนิยมเป็นอันดับ 1 คือสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน รองลงมาคือการพนันในบ่อน พนันกีฬาพื้นบ้าน พนันฟุตบอล และพนันมวย ตามลำดับ ส่วนพื้นที่ที่เล่นการพนันมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคใต้ และภาคกลาง ตามลำดับ 

         

          สำหรับเวทีเสวนา “พนันติดง่ายเลิกยาก” นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษางานสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พฤติกรรมเสพติดเกิดจากการทำงานของสมอง ที่สมองส่วนอยากทำงานมากกว่าสมองส่วนคิดยับยั้งชั่งใจ ที่ถูกกระตุ้นด้วยความตื่นเต้นและมีความสุข ทำให้การเสพในครั้งต่อๆ ไปเพิ่มปริมาณมากขึ้นและใช้เวลามากขึ้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยกระบวนการเสพติดเกิดจากการเริ่มต้นครั้งแรกนั่นเอง  

          ด้าน อาจารย์ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ ศูนย์ศึกษาปัญหาพนันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอตัวอย่างชุดคำถามในการตรวจสอบสัญญาณของการเล่นพนันที่เป็นปัญหา คือ คุณเล่นการพนันนานกว่าที่คุณตั้งใจหรือไม่ คุณเล่นพนันแบบ “ทุ่มสุดตัว” แล้วหลังจากนั้น “พยายามเอาคืน” หลังจากเล่นเสีย คุณโกหกสมาชิกในครอบครัวหรือคนอื่นๆ เกี่ยวกับจำนวนเงินที่คุณเล่นพนัน คุณขาดงานหรือไม่ทำตามสัญญาที่ให้กับครอบครัวจากการพนัน หรือไม่สนใจด้านอื่นๆ ของชีวิตเนื่องจากใช้เวลาคิดถึงการพนันหรือไม่ ถ้าเริ่มมีอาการเหล่านี้แปลว่าคุณต้องหาวิธีหยุด เพราะคุณกำลังก้าวข้ามจากการเล่นพนันเพื่อเข้าสังคม เพื่อความบันเทิงสนุกสนานไปสู่การเล่นพนันที่เป็นปัญหาแล้ว

          นอกจากนี้ในเวทียังมีผู้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนอีกสองท่าน คือผู้ได้รับผลกระทบจากสามีติดการพนันจนทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว ต้องหย่าร้าง ย้ายบ้าน และต้องตามใช้หนี้เป็นล้านที่ตนเองไม่ได้ก่อ รวมถึงอดีตนักศึกษาที่เริ่มเล่นพนันเล็กๆ น้อยๆ ครั้งแรกตอนเรียนชั้น ม.2 สู่การติดพนันฟุตบอลในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย จากโต๊ะบอลลงท้ายด้วยพนันฟุตบอลออนไลน์ แต่สามารถเลิกพนันได้แล้วในที่สุด 

          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลและเลขานุการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ได้สรุปข้อเสนอแนะต่อสาธารณะว่า แนวโน้มปัญหาการพนันในประเทศไทยมีมากขึ้นทุกปี สำหรับบ้างบ้านยังไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูล และไม่ทราบเลยว่าคนในครอบครัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน คนทำงานด้านครอบครัวจึงต้องพยายามนำองค์ความรู้เรื่องการติดพนันไปสู่การรณรงค์ให้ได้ นอกจากนี้ต้องให้เขาได้สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องปัญหาทรัพย์สิน หรือการเงินที่ไม่ใช่เพียงเงินไม่พอใช้ เงินเก็บหายไป แต่จู่ๆ ได้เงินมาก้อนโตก็เป็นที่ผิดสังเกตเช่นกัน
 
          สำหรับคนทำงานในโรงเรียน ขอให้นำเครื่องมือชุดคำถามไปให้เด็กนักเรียนทำ โดยให้เขาตอบคำถามด้วยตนเอง เขาจะพบเองว่าตัวเขาเข้าเกณฑ์กี่ข้อ เพราะไม่มีเด็กคนไหนยอมรับหากเราเดินไปบอกเขาว่า เขาติดพนัน หรือติดเกม  สำหรับในอนาคตหวังให้คนทำงานด้านครอบครัวมีศูนย์ข้อมูลที่คนติดพนันสามารถเข้าถึง เพื่อให้เขาสำรวจตนเอง และแก้ไขตนเองเบื้องต้นได้ ซึ่งจะช่วยให้คนทำงานทำงานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การให้คำปรึกษาและดูแลสภาพจิตใจสำหรับคนที่มีทุกข์จากการติดพนันหรือมีคนในครอบครัวติดพนันก็มีความสำคัญมากที่ต้องช่วยเหลือให้เขาก้าวผ่านปัญหาได้โดยเร็ว 

          และสุดท้ายสังคมต้องยอมรับร่วมกันว่าการพนันเป็นปัญหาที่มีผลกระทบ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนเราต้องปกป้อง ทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เขาเคยชิน และเข้าถึงการพนันได้ทุกรูปแบบ


นีรชา คัมภิรานนท์  รายงาน  /  มนัสกร จันนุช  ภาพข่าว