Accessibility help

เมนูหลัก

โรคมือแม่บ้าน

โรคมือแม่บ้าน


ในงาน "48 ปี ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯศิริราช" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

          ผศ.พญ.สายชล ว่องตระกูล หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ทางมือ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้ความรู้เกี่ยวกับ "โรคมือแม่บ้าน" ว่า เป็นโรคที่เกิดจากการใช้มือทำงานอย่างเดิมซ้ำๆ กันบ่อยครั้ง หรือทำงานบ้านหนักๆ เช่น ยกของ หิ้วของ ซักผ้า บิดผ้า ตีกอล์ฟ ฯลฯ ทำให้มีพังผืดเพิ่มขึ้นจนยึดเกาะตามเส้นประสาทและเส้นเอ็น อาการเบื้องต้นแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ นิ้วล็อก มือชา เจ็บข้อนิ้ว และเจ็บข้อมือ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้ไม่รับการรักษาจะทำให้อาการรุนแรงจนกระทั่งข้อเสื่อม ข้อพัง หรือกระดูกคดงอผิดรูปได้ โรคนี้ส่วนใหญ่พบมากในหญิงวัยกลางคนอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากมารับการรักษาทุกวัน ถือได้ว่าเป็นโรคที่แพทย์ต้องรักษาประจำวัน

          วิธีป้องกันสามารถทำได้โดยใช้มือให้น้อยลง หรือใช้ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย รู้จักเฉลี่ยงาน ไม่ควรใช้มือทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ เป็นประจำ และผู้ที่ทำงานหนัก ควรใส่ถุงมือหนาๆ เพื่อลดแรงกดระหว่างอุปกรณ์กับมือ นอกจากนี้ การกดคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้มีโอกาสเป็นนิ้วล็อก แต่จะมีโอกาสเป็นน้อยกว่าพวกคนที่ทำงานบ้าน คนทำสวน ผู้ใช้แรงงาน กรรมกร หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ เนื่องจากเนื้อเยื่อปลายเส้นประสาทอักเสบได้ง่าย

          สำหรับการรักษาผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่

          1.รักษาแบบบรรเทาอาการ โดยแพทย์จะให้ยากินและยาฉีดแก่ผู้ป่วย รวมทั้งให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเอง เช่น การแช่มือในน้ำอุ่นครั้งละ 2-3 นาที เพื่อลดการตึงของข้อมือ และช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น หากผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมทำงานแบบเดิมจะสามารถกลับมาเป็นได้อีก

          2.รักษาแบบหายขาด โดยวิธีผ่าตัดพังผืดออกซึ่งใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 10-15 นาที ผู้ป่วยก็สามารถใช้มือทำงานเบาๆ ได้ จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ จะสามารถใช้มือทำงานได้ปกติ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน