เรื่องเล่าครอบครัว
โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2543
ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์ เป็นนามแฝงของนักวิชาการใน รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานประจำด้านจิตเวชและจิตวิทยาแล้ว ยังมีความสนใจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เขาจะเสนอมุมมองและสาระความรู้ที่น่าสนใจในคอลัมน์ "จากฝั่งพรานนก"
เมื่อเร็วๆ นี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำการศึกษาในคู่สามีภรรยาจำนวน 2,867 คู่ เกี่ยวกับสุขภาพของคู่สามีภรรยา และผลกระทบที่งานอาชีพมีต่อสุขภาพผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ และน่าจะมีประโยชน์ต่อมุมมองปัญหาของท่าน ผู้อ่าน จึงขออนุญาตถ่ายทอดมาเล่าสู่กันฟัง
ศาสตราจารย์ Stolzen- berg นักสังคม วิทยาชาวอเมริกันได้ทำการศึกษาจากข้อมูลการศึกษาระยะเวลา 3 ปีของศูนย์วิจัยเกี่ยวกับครอบครัวที่ทำงาน และเด็ก Alfred P Sloan ของ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สิ่งที่น่าสนใจที่เขาพบ คือ ในตัวอย่างของคู่สามีภรรยาที่ได้รับการศึกษา นั้น Stolzenberg พบว่า หากภรรยาทำงานเป็นเวลามากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะมีผลกระทบ ด้านลบต่อสุขภาพของสามี นั่นคือ คู่สามีที่ภรรยาทำงานนอกบ้านมากดังกล่าวจะมีสุขภาพแย่ลง
นั่นคือ หากภรรยาไม่ได้ทำงาน หรือเป็นแม่บ้านหรือหากทำงานนอกบ้านน้อยกว่า 40 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ การทำงานนั้นจะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของสามี ปริมาณงานหรือจำนวนชิ้นของงาน ไม่มีผลกระทบต่อเรื่องนี้ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่จำนวนชั่วโมงของการทำงาน เขาพบว่าหากภรรยาทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมง สุขภาพของสามีจะแย่ลงไปประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุที่สุขภาพของสามีแย่ลงนั้น Stol-zenberg อธิบายว่า น่าจะเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ
ประการแรก การที่ภรรยาทำงานนอกบ้านมาก คือ การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือสามีน้อย ลง ผลคือ แทนที่สุขภาพของสามีจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จึงไม่เกิดขึ้น ภรรยามีเวลาน้อย ที่จะคอยไต่ถาม หรือนัดหมายแพทย์ หรือกระทั่งชักชวนให้สามีไปรับการตรวจเมื่อเกิดอาการผิดปกติขึ้น
Stolzenberg อธิบายว่า โดยธรรมชาติแล้ว ผู้หญิงจะสนใจและห่วงใยสุขภาพของตนมากกว่าผู้ชาย เมื่อแต่งงานกัน ความสนใจ นี้ก็จะเผื่อแผ่ให้กับคู่ครองของตน อันนี้ผมคิดว่าค่อน ข้างจะจริงเป็นส่วน ใหญ่ ผู้ชายเวลาไม่สบายมักจะไม่ค่อยไปพบแพทย์ คือ มักจะทิ้งไว้ก่อน หรือรอให้ว่างก่อน พอว่างขึ้นมา อาการก็หายไป เลยไม่ค่อยจะมาพบแพทย์ หากมานั่นก็มักจะเป็นเพราะเป็นมากแล้ว จนอาการไม่หายไปเอง
ส่วนปัจจัยประการที่สอง คือ ภรรยา หรือผู้หญิงทำหน้าที่เสมือนเป็นคนคอยจัดรายการสังคมต่างๆ ให้กับสามี เช่น การนัดหมายงานสังคม การสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือญาติมิตร รวมไปถึงการพักผ่อนสุดสัปดาห์ หรือการท่องเที่ยว Stolzenberg มองว่าปัจจัยนี้เป็นคุณสมบัติโดยเฉลี่ยของเพศหญิงที่เพศชายมักจะขาดหรือให้ ความสำคัญ น้อยกว่า พูดง่ายๆ คือ เพศหญิงจะชอบและมีความ สามารถในการเข้าสังคมมากกว่า อันนี้อาจจะทำให้คุณผู้อ่านบางท่านนึกถึงบรรดาสมาคมแม่บ้านทั้งหลาย อาจจะทำให้เห็นประโยชน์ของมันมากขึ้น
ปัจจัยประการที่สอง หรือความสามารถในการเข้าและสร้างงานสังคมนี้ Stolzenberg เชื่อว่าสำคัญกว่าปัจจัยประการแรกมากนัก ในขณะที่ปัจจัยแรกเป็นเพียงการเตือนให้สามีไปตรวจเช็กสุขภาพเหมือนการนำรถ เข้าอู่ซ่อม เมื่อรถเกิดปัญหาเพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
แต่ปัจจัยประการที่สองเป็นเหมือนการป้องกันความเครียด หรือช่วยลดผลกระทบของความเครียดให้น้อยลง ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าความเครียดเป็นทั้งปัจจัยกระตุ้น และปัจจัยเสริมให้สุขภาพของคนเราแย่ลง เจ็บป่วยง่ายขึ้น
ถ้าปัจจัยประการแรกผู้หญิงทำหน้าที่เป็นเสมือนเลขานุการส่วนตัวของสามี บทบาทหลังกลับเป็นเสมือนผู้สรรค์สร้างความสุขในชีวิตให้กับครอบครัวและสามี
นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมสุขภาพของผู้ชายจึงแย่ลง เมื่อภรรยาทำงานหนักนอกบ้าน
ส่วนการทำงานหนักของผู้หญิงนั้นไม่มีผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของตัวเอง ดังที่มีต่อคู่ครอง แล้วหากสามีทำงานหนัก จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของภรรยาหรือไม่
ผู้อ่านที่เคยชินกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด อาจจะนึกถึงภาพยนตร์หลายเรื่อง ที่กล่าวถึงการที่สามีทำงานหนัก มีเวลาให้ครอบครัวน้อย ทำให้ภรรยาติดเหล้าหรือยาเสพย์ติด
Stolzenberg พบว่า การที่สามีทำงานหนัก หรือทำโอที ไม่มีผลกระทบในด้านลบต่อสุขภาพทั้งของเขาและภรรยา ซึ่งผลที่ได้นั้น Stolzenberg ยังคงอธิบายว่าเนื่องจากบทบาททางสังคมที่กำหนด ให้เพศหญิงจะห่วงใยกับสุขภาพของตนและครอบครัว การที่สามีทำงานมากจึงไม่มีผลกระทบต่อบทบาทนี้ของผู้หญิง
แต่หากสามีตกงาน ผลจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เขาพบว่าสุขภาพของทั้งคู่จะแย่ลงอย่างชัดเจน สุขภาพของทั้งคู่สามีภรรยาจะดีขึ้น หากสามีได้ทำงาน (อาชีพ) มากกว่า 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
งานวิจัยชิ้นนี้คงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายเพศหญิง และปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อบทบาทของทั้งสองเพศชัดเจนขึ้น
ในขณะที่สมัยก่อนเพศหญิงเป็นฝ่ายที่ต้อง พึ่งพิงเพศชายมาตลอด เนื่องจากสังคมกำหนดให้ผู้หญิงอยู่ในบ้านและไม่ประกอบอาชีพ สิ่งที่ผู้หญิง จะสนใจได้ก็คงเหลือเพียงความเป็นอยู่ของครอบ ครัว ส่วนสามีคงทำหน้าที่ในการหารายได้เพื่อจุนเจือ ครอบครัวภรรยาจึงแสดงบทบาทในการเชิดหน้าชูตาสามี ในการเป็นภรรยาที่สังคมยกย่อง และดูแลสุขภาพของสามี
เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปผู้หญิงต้องออกจากครอบครัวเพื่อทำงานหารายได้ บทบาทในการดูแลครอบครัวจึงน้อยลงแต่บทบาทของเพศชายยังคงเหมือนเดิมไม่ เปลี่ยนแปลง ในสังคมสมัยใหม่ ผู้ชายที่ภรรยาทำงานนอกบ้านจึงขาดปัจจัยทั้งสองประการที่กล่าวข้างต้น
อาจพูดได้ว่า ในแง่ของสุขภาพแล้ว ผู้ชายต้องพึ่งพิงผู้หญิงมากกว่า
นี่จึงอาจเป็นคำอธิบายทางสังคมวิทยาถึงงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็น ว่า เมื่อผู้ชายเป็นม่าย เนื่องจากภรรยาเสียชีวิตสุขภาพของผู้ชายม่ายจึงแย่กว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน
สิ่งหนึ่งที่สามีอาจจะทำเพื่อให้สุขภาพของตนดีขึ้นตามทัศนะของ Stolzenberg คือ การหย่า ขาดจากภรรยาผู้เป็น workaholic ไม่ได้บอกต่อ ว่าจะให้ฝ่ายชายหาภรรยาใหม่หรือไม่ แต่เขาวิจารณ์ ว่าการหย่าขาดอาจจะไม่ทำให้สุขภาพของสามีดีขึ้น เนื่องจากนอกจากคนคอยเตือนจะหายไปแล้ว แม่บ้านที่คอยช่วยจัดงานสังคมก็ไม่มี และดังที่กล่าวข้างตนว่าเพศชายไม่ถนัดกับกิจกรรมทางสังคมเท่าเพศหญิง Stolzenberg เชื่อว่าสุขภาพของฝ่ายชายจะแย่ลง และแย่ลงอย่างรวดเร็วกว่าตอนอยู่ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงการมองในเชิงสังคมวิทยาด้านหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่คู่สามีภรรยาจะอยู่ด้วยกันต่อไป หรือ ไม่นั้นมีหลายปัจจัย และปัจจัยสำคัญมักจะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกว่า อีกฝ่ายหนึ่งสามารถเข้าใจ และตอบสนองในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการได้หรือไม่
จากงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้นึกถึงเรื่องที่เพศชายชอบคุยกันถึงเหตุผลในการมี ภรรยาน้อยว่า เพื่อมาแบ่งเบาภาระของภรรยาหลวง ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับข้อสรุปที่ว่าเพศชายเองต้องพึ่งเพศหญิงในหลายด้าน
แต่หากครอบครัวใดภรรยาทำงานหนักนอกบ้าน สามีจะใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างว่ามีภรรยาน้อย เพื่อหาเลขามาช่วยดูแลสุขภาพของตนในระยะยาว เพราะภรรยาไม่มีเวลา ก็ดูจะเป็นเหตุผลที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสวัสดิภาพทางกายในระยะสั้น และอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
ที่มา
http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=187