ตอบความคิดเห็น
ทัศนะหมอเศรษฐกิจ "การพนัน" คือสินค้าเสพติดชนิดหนึ่ง
ศุกร์, 22/06/2012 - 10:01 — webmaster
เรื่อง: ฮ.นกฮูก
ขณะที่ทุกฝ่ายยอมรับตรงกันว่า การพนันให้อารมณ์สนุกสนาน ตื่นเต้น ได้เสี่ยง ได้ลุ้น เพื่อจะได้ชัยชนะ คนเล่นพนันจะรู้สึกมีความหวังว่าจะเป็นผู้ทำชัยชนะ ได้เงินทองมาง่ายๆ
สมประวิณ มันประเสริฐ นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาพฤติกรรมการเล่นพนันในประเทศไทย ผ่านแบบจำลองทางเศรษฐมิติ เมื่อปี 2554 สรุปว่า การพนันเป็นสินค้าเสพติด (Addictive Goods) คนเล่นพนันในประเทศไทยมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมเป็น "ผู้เสพติดอย่างมีเหตุผล" (Rational Addiction Behavior) คือเลือกบริโภค “สินค้าการพนัน” โดยเปรียบเทียบ “ต้นทุนที่ต้องจ่าย” เช่นเงินเดิมพัน ค่าเสียโอกาสจากเวลาที่ใช้เล่นพนัน ฯลฯ เพื่อแลกกับ “ความสุข” ด้านอารมณ์ที่ได้รับจากการเล่นพนัน
โรคติดการพนัน (Pathological gambling)
คนเป็นโรคติดการพนัน มีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด คือ จิตใจจดจ่ออยู่กับการพนันตลอดเวลา ไม่สามารถคิดหรือทำอย่างอื่น
...และในที่สุดจะเล่นการพนันโดยไม่มีการยั้งคิด
เวลาเล่นได้ก็เกิดความโลภอยากได้มากขึ้น เวลาเสียจะรู้สึกเสียดายมาก อยากได้คืน ก็จะเล่นเพื่อแก้ตัว โดยคิดเข้าข้างตัวเองว่าเมื่อเสียแล้วน่าจะได้อะไรบ้าง การปลอบใจตัวเองแบบนี้ทำให้ไม่หยุดเมื่อเล่นเสีย ในที่สุดลงเอยด้วยการเสียเงินจำนวนมาก เป็นหนี้ ทำทุกรูปแบบโดยไม่ยั้งคิดเพื่อให้ได้เงินมาเล่นการพนัน
การขาดสติควบคุมตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเองว่าจะเล่นพนันได้ เป็นอาการสำคัญอาการหนึ่งของ โรคติดการพนัน
ถ้าไม่อยากให้คนไทยเป็นโรคติดการพนัน สังคมต้องช่วยกันดูแลควบคุมไม่ให้มีการกระตุ้นหรือเร่งเร้าให้เกิดการอยากเล่นการพนันมากเกินไป โดย
1. บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด เพิ่มค่าปรับและเพิ่มบทลงโทษ
2. สร้างกิจกรรมทดแทน เพื่อป้องกันผู้เล่นใหม่
3. ฉีดภูมิคุ้มกันให้สังคม ทำให้เยาวชนอยู่กับการพนันแบบรู้เท่าทัน
สังคมต้องตระหนักว่า กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อการทำให้ “ลองเล่น” และ “ยังคงเล่น” การพนันในปัจจุบัน
และการชักจูงให้คนอื่นเล่นการพนัน อาจก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคม มากกว่าต้นทุนส่วนบุคคล (ที่ผู้เล่นพนันต้องจ่าย) เพราะรัฐต้องใช้งบประมาณมากขึ้นเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเสพติด “เล่นการพนัน”
การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์พบว่า การประชาสัมพันธ์และสร้างค่านิยมให้ลดการเล่นพนันให้ได้ผล ต้องเน้นการรณรงค์กับเพศชาย เริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย ขยายวงกว้างสู่คนในครอบครัวและชุมชน เพื่อสร้างสำนึกให้ผู้พนันรู้ตัวว่า ตนเองสามารถสร้างปัญหาให้กับคนข้างเคียงในครอบครัวได้
ที่มา จุลสาร“ทันเกม” ปีที่1 ฉบับที่1 มกราคม-มีนาคม 2555 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน