ค้านคืนชีพหวยออนไลน์ เครือข่ายหยุดพนันเชื่อเอื้อบางกลุ่ม

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 28 พฤษภาคม ที่รัฐสภา เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน  พร้อมด้วยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว  มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน เครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษาและเครือข่ายเยาวชนไม่พนันกว่า 30 คน  ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อน.ส.รสนา  โตสิตระกูล  ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล  วุฒิสภา และนายมณเฑียร  บุญตัน  รองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส  วุฒิสภา  เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการดำเนินงานที่ขาดธรรมาภิบาล ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรณีเดินหน้าโครงการตู้สลากอัตโนมัติ (หวยออนไลน์)  การไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา ปัญหาการนำเงินที่ได้จากรายได้ไปเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่มหรือผู้มีอิทธิพล  รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.พนัน 2478 เพื่อเปิดทางบ่อนและให้หนี้พนันถูกกฎหมาย ทั้งนี้  เครือข่ายเยาวชนฯ ได้แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำหุ่นหวยออนไลน์จำลอง มาทำลาย เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านในเรื่องดังกล่าว

                นายธนากร   คมกฤส  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนันกล่าวว่า  เครือข่ายฯได้เฝ้าระวังเกาะติดสถานการณ์ปัญหาการพนันมาโดยตลอด และเห็นตรงกันว่าเจตนาของรัฐบาลจะกลายเป็นการชักนำให้คนหันมาเล่นพนันเพิ่มมากขึ้น  วิธีนี้นอกจากจะไม่ได้ตอบโจทย์สังคมแล้ว กลับเป็นการทำลายมอมเมาประชาชน นำไปสู่ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสังคม อาชญากรรม
 
                ดังนั้น เครือข่ายฯขอแสดงจุดยืนและมีข้อเรียกร้องดังนี้  1. ขอคัดค้านการเพิ่มพื้นที่การพนัน  เพื่อมอมเมาประชาชนทุกรูปแบบ  และขอเรียกร้องต่อวุฒิสภาให้มีจุดยืนในการช่วยลดพื้นที่การพนัน  ปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลการพนัน  2.ขอให้คณะกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล  วุฒิสภา  ช่วยตรวจสอบธรรมาภิบาล ความไม่โปร่งใสของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  โดยเปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับฟัง  แสดงความคิดเห็น  และเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน  เพื่อมุ่งสู่การทำให้สำนักงานสลากฯเป็นองค์กรที่หารายได้ไปเพื่อให้ประโยชน์กับสังคมอย่างแท้จริง  มากกว่าการมุ่งหารายได้ด้วยการมอมเมาประชาชนและเพิ่มพื้นที่การพนัน
 

                ข้อ 3.ขอให้คณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส  วุฒิสภา  ตรวจสอบและศึกษาถึงผลกระทบทางสังคม เด็กและเยาวชน  จากการออกตู้จำหน่ายสลากอัตโนมัติ  และการแก้ไข พ.ร.บ.พนัน พ.ศ. 2478  โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน  และ 4.ขอให้คณะกรรมาธิการทั้งสองคณะ  ช่วยยับยั้งการมอมเมาประชาชนจากการพนัน โดยเฉพาะการอนุญาตให้จำหน่ายสลากอัตโนมัติ  และการแก้ไข พ.ร.บ.พนัน พ.ศ. 2478


                ด้านนายอิมรอน   เชษฐวัฒน์   ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา กล่าวว่า  ขณะนี้มีเสียงวิภาควิจารณ์ต่อสำนักงานสลากฯเป็นอย่างมาก   ทำให้เกิดข้อครหาถึงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เพราะยังไม่สามารถแก้ไขการขายสลากเกินราคาได้เลย   ประกอบกับความพยายามในการผลักดันเครื่องจำหน่ายสลากอัตโนมัติ ซึ่งอ้างกันว่าจะช่วยแก้ปัญหาสลากเกินราคา  ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีทางเป็นไปได้  และเราไม่ต้องการให้กองสลากกลายเป็นเครื่องมือหาเสียงเหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต  แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะต้องเดินหน้าต่อไป  โดยล่าสุดมีสัญญาณที่ชัดเจนจากกระทรวงการคลังว่าจะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จภายในปีนี้อย่างแน่นอน  ซึ่งจะทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีรายได้ของตนเอง และจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้อีกมากมาย ขณะเดียวกันในกรณีของการผลักดันร่าง แก้ไข พ.ร.บ.พนัน พ.ศ. 2478  ก็เพื่อต้องการให้บ่อนพนันถูกกฎหมายทำได้และง่ายขึ้น  ด้วยการออกเป็นกฎกระทรวงซึ่งอาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนการทำให้หนี้พนันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถบังคับฟ้องร้องกันได้
 
              “เป็นที่น่าสังเกตว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว  ในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 อย่างรีบเร่ง   ยิ่งทำให้ภาคประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการปรับปรุงแก้ไข ร่างกฎหมายดังกล่าว  แม้จะเข้าใจว่าช่วงนี้รัฐบาลเกิดการขาดดุลจากนโยบายประชานิยม จึงเสนอให้มีแนวทางหารายได้มาชดเชย แต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้นด้วยวิธีนี้  เพราะจะเป็นการเพิ่มจำนวนผีพนันให้เกิดขึ้นในประเทศ   ผลกระทบทางสังคมจะไม่คุ้มกันเลย    หากดูข้อมูลการสำรวจสถานการณ์พนัน โดยสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2553 พบว่า มีเงินหมุนเวียนในวงจรพนันของไทยสูงถึง 350,000 ล้านบาท  หากมีนโยบายขยายการพนันแบบนี้  วงเงินจะยิ่งเพิ่มขึ้นและการทำลายสังคมก็มากขึ้นตามไปด้วย” นายอิมรอนกล่าว