กระตุ้นพ่อรู้สิทธิ์ “ลาคลอด” ได้ 15 วัน ช่วยภรรยาเลี้ยงลูก

มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ร่วมภาคีเครือข่าย กระตุ้นพ่อรู้สิทธิ์  “ลาคลอด” ได้ 15 วัน ช่วยแม่เลี้ยงลูก ลดความเครียด ส่งเสริมลูกกินนมแม่ครบ 6 เดือนสำเร็จ พร้อมรณรงค์ให้หน่วยงานราชการ หัวหน้างาน เห็นความสำคัญ เปิดกว้างลาได้ไม่ถูกตำหนิ เสนอรัฐขยายครอบคลุมภาคเอกชน 
       
       วันนี้ (18 ก.พ.) ที่โรงแรม รามาการ์เด้นส์ นายสง่า ดามาพงษ์ ประธานคณะกรรมการโครงการสื่อสารฯ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนา “ถึงเวลาพ่อลาคลอด” ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2553 ครม.มีมติให้ข้าราชการสามารถลาติดต่อกันได้ไม่เกิน 15วัน ทำการ เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกหลังคลอด ต่อมาได้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 ข้อ 20 อนุญาตให้ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2555 แต่ยังไม่รับทราบเป็นที่แพร่หลาย ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิของเด็กในการได้มีโอกาสได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อ และขอให้ข้าราชการได้ใช้สิทธิของตัวเองให้เต็มที่ 
       
       นายสง่า กล่าวด้วยว่า สำหรับการขับเคลื่อนกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัตินั้น ขอให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้หน่วยงานที่อยู่ในสังกัดรับรู้สิทธิของตนเอง และ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้ภาคธุรกิจ ภาคเอกชนให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับข้าราชการ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้คุณค่าเห็นความสำคัญ ผู้บริหาร หัวหน้างานอนุญาตให้ลางานได้โดยไม่ตำหนิผู้ใต้บังคับบัญชา  
       
       “การลาคลอดของพ่อหลายคนสงสัยตั้งคำถามว่าทำไมพ่อต้องลาคลอดด้วยเพราะไม่ได้เป็นผู้ที่ตั้งครรภ์แต่ความจริงแล้วบทบาทของพ่อในช่วงที่แม่คลอดบุตรนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถเป็นกำลังใจที่ดีและแบ่งเบาภาระของภรรยาได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้พ่อซักผ้าอ้อม หรือ ดูแลลูกแทน แต่แค่โอบกอดให้กำลังใจภรรยา ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ”นายสง่ากล่าว
       
       นายสง่ากล่าวอีกว่า สำหรับสิทธิการลาคลอดของประเทศต่างๆ โปแลนด์ให้พ่อลาคลอดได้ 14 วัน นอร์เวย์ 10 สัปดาห์ โดยแชร์จากสิทธิของคุณแม่ พม่า 6 วัน อินโดนีเซีย 2วัน กัมพูชา 10 วัน เคนย่า 2สัปดาห์ ส่วนประเทศไทยนั้นก็ไม่น้อยหน้าชาติไหนๆ เพราะเปิดโอกาสให้ลาได้ถึง 15 วัน แต่ความคิดส่วนตัวแล้วนี่เป็นเพียงการเริ่มต้น ในอนาคตหากเพิ่มวันลาให้ได้ 1 เดือน จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอย่างมาก
       
       ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย กล่าวว่า ในบทบาทคุณแม่ลูกสองตนมีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวให้ครบ 6เดือน เพราะนมแม่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ต่อลูกมาที่สุด ซึ่งก็สามารถเลี้ยงดูลูกทั้งคู่ด้วยนมแม่สำเร็จ เนื่องมาจากมีสามีเป็นกำลังใจที่สำคัญประกอบกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ออกกฎระเบียบ ตั้งแต่ ปี 2551 สนับสนุนให้พ่อสามารถลาคลอดมาช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรได้เป็นเวลา 10 วัน ทั้งนี้เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ภายในกรอบของสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะออกจากระบบราชการแล้ว
       
       “กฎหมายการลาคลอดได้ครั้งหนึ่งติดต่อกันไม่เกิน 15 วัน มีผลบังคับใช้กับข้าราชการเป็นมุมมองใหม่ของรัฐบาลที่มีต่อสังคม ซึ่งหากรวมวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ข้าราชการจะได้หยุดนาน 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลานานมาทีเดียวที่ให้สิทธิข้าราชการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดควรช่วยกันกระตุ้นให้สังคมมีค่านิยมที่ถูกต้องในการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว ส่งเสริมให้ข้าราชการใช้สิทธิของตัวเอง ก็จะทำให้ดูเป็นคนอบอุ่นเป็นแฟมมิลี่แมน ทำให้คนที่เป็นผู้บังคับบัญชาเข้าใจและอนุญาตให้ลาคลอดได้ ส่วนกรณีของการเกรงว่า ข้าราชการจะขอใช้สิทธิ์ลาหยุดแต่ไม่ได้ไปช่วยเลี้ยงดูลูกดูแลภรรยาจริงๆ นั้น ก่อนที่จุฬาฯ จะออกระเบียบก็มีข้อกังวลนี้เช่นกัน และมีข้อเสนอให้มีหนังสือรับรองจากภรรยา อย่างไรก็ตาม กรณีที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย อย่าทำให้พฤติกรรมไม่ดีของคนส่วนมาบดบังโอกาสของคนส่วนใหญ่ที่จะได้รับประโยชน์ดีกว่า” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว
       
       ด้านนางสาวกิรกมล ฉายบัณดิษฐ์ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 3 เดือน ขณะเดียวกันผู้ชายก็สามารถลาคลอดได้ 15 วัน ส่วนตัวคิดว่าน่าจะให้เวลาผู้ชายมากกว่านี้ในการปรับตัวดูแลลูก เพราะเด็กไม่ได้เลี้ยงแต่ตัวต้องเลี้ยงหัวใจด้วย ขณะเดียวต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพราะไม่ใช่ผู้ชายจะเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือหญิงเป็นแม่บ้าน ทำงานบ้านเลี้ยงลูกได้อย่างเดียวแต่สามารถที่จะสลับบทบาทกันได้ ผู้หญิงอาจทำงานนอกบ้านได้ สามีทำหน้าที่เป็นพ่อบ้าน
       
       “กฎหมายลาคลอดต้องมีการผลักดันต่อในเรื่องเชิงนโยบายกับการปฏิบัติ ปลูกจิตสำนึกค่านิยม ให้ผู้ชายต้องมีส่วนร่วมในการดูแลเลี้ยงลูกกับผู้หญิงเพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพ่อแม่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ จะต้องพูดคุยประชุมระหว่างองค์การหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายกันอย่างไร แต่ต้องมีการผลักดันต่ออย่างแน่นอน”นางสาวกิรกมล กล่าว 

ที่มา  http://mgr.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000022654